
(25 กุมภาพันธ์ 2568) ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.): ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พร้อมด้วยทีมนักวิจัย สวทช. ภายใต้กระทรวง อว. และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมงานแถลงข่าวการจัดการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 20 (20th NSTDA Annual Conference: NAC2025) ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย AI เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน: AI-driven Science and Technology for Sustainable Thailand” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม 2568 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สวทช. เป็น “ขุมพลังหลักของประเทศ” ในการขับเคลื่อนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน หรือ S&T Implementation for Sustainable Thailand ด้วยตระหนักดีว่า วทน. เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อเป็นขุมพลังในการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทยอย่างทั่วถึง และสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศ
การจัดงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. (NSTDA Annual Conference: NAC) จึงเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญที่ สวทช. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นเวทีระดับประเทศในการนำเสนอความก้าวหน้าทาง วทน. ที่ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้นเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ซึ่งในปีนี้จัดภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย AI เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน”(AI-driven Science and Technology for Sustainable Thailand) เพื่อนำเสนอองค์ความรู้ งานวิจัยและพัฒนาด้าน AI แนวทางการบูรณาการเข้ากับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินงานของ 5 ศูนย์วิจัยแห่งชาติภายใต้สังกัด สวทช. ได้แก่ BIOTEC, MTEC, NECTEC, NANOTEC และ ENTEC เพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชน รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนด้าน AI เพื่อรองรับความต้องการตลาดแรงงานและสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสอดคล้องกับนโยบาย อว.For AI ของกระทรวง อว.
“ในโอกาสนี้ สวทช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 20 และทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2568 เวลา 09.00-14.00 น.
นอกจากนี้ไฮไลต์สำคัญของปีนี้ยังมีการสัมมนาพิเศษ “Decoding Thailand’s AI Future: Strategy for Competitive Edge ” (วันที่ 26 มีนาคม 2568) ซึ่ง สวทช. ผนึกกำลังกับ Techsauce เชิญวิทยากรชั้นนำของประเทศมาร่วมถอดรหัสและวางยุทธศาสตร์เส้นทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่การวางรากฐานนโยบาย ค้นหาโอกาส Quick Win ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เรียนรู้บทเรียนจากทั่วโลกเพื่อกำหนดทิศทางที่เหมาะสมกับไทย เจาะลึกปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านกรณีศึกษาจากภาคธุรกิจชั้นนำ รวมถึงตัวอย่างการประยุกต์ใช้ AI จริงในภาคส่วนต่าง ๆ ผ่านผลงานวิจัย สวทช.” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

ด้าน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า ในยุคที่ AI มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนา AI Ecosystem อย่างเข้มแข็ง เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นผู้นำด้าน AI ในระดับภูมิภาคและระดับโลก ดังนั้นการจัดงานประชุม NAC2025 ถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันระบบนิเวศ AI ของไทย ซึ่งไม่เพียงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่ยังเปิดโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต และเตรียมความพร้อมให้ทุกภาคส่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การพัฒนา AI Ecosystem ของประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคจะเกิดผลสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1. จริยธรรม AI 2. โครงสร้างพื้นฐาน 3. การพัฒนาบุคลากร 4. วิจัยและนวัตกรรม และ 5. การส่งเสริมธุรกิจ AI อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง เพื่อทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง AI ในระดับภูมิภาคได้อย่างมั่นคง แข็งแกร่งและเกิดความยั่งยืนได้ในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย AI เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” โดย ผศ.ดร. นริศ หนูหอม อุปนายก สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) กล่าวว่า ในฐานะที่สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทยมีภารกิจหลักด้านการพัฒนากำลังคนด้าน AI โดยมีโครงการ Super AI Engineer ผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพสูง ตอบโจทย์การพัฒนา AI กำลังคนเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการขับเคลื่อน AI ดังนั้น การสร้างและพัฒนา ให้คน มีความรู้ มีการพัฒนาความสามารถ ด้าน AI และเป็นคนที่มีมาตรฐานตามสมรรถนะของบุคคลในการประกอบอาชีพ รวมไปถึงการเชื่อมโยงเครือข่าย โดยสมาคม ฯ เป็นสื่อกลางในการดำเนินงาน ซึ่งส่งผลให้ประเทศมีความเข้มแข็ง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ของประเทศไทย ได้อย่างยั่งยืน”

