
AIAT ร่วมเสวนาหัวข้อ “สิทธิบัตรด้าน AI กับการวางกลยุทธ์เพื่อดึงดูดทุน” ในงาน “Thailand Digital IP Forum 2025” ภายใต้แนวคิด Cracking IP Challenges in the AI Driven World
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) โดย ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย เข้าร่วมเสวนาในงาน Thailand Digital IP Forum 2025 ในหัวข้อ “สิทธิบัตรด้าน AI กับการวางกลยุทธ์เพื่อดึงดูดทุน” ณ โรงแรมเดอะ แลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ
กิจกรรมเสวนาในหัวข้อดังกล่าว กล่าวถึง ประเด็นความท้าทายด้านสิทธิบัตรของไทยในยุค AI รวมถึงความท้าทายของ Startup กับกลยุทธ์ Open & Close และปิดท้่ายด้วย แนวคิดเกี่ยวกับทางรอดในยุค AI และ โอกาสของ AI ในประเทศไทย

| ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย
สาระสำคัญของการเสวนา หัวข้อ “สิทธิบัตรด้าน AI กับการวางกลยุทธ์เพื่อดึงดูดทุน” สรุปได้ดังนี้
ความท้าทายด้านสิทธิบัตรของไทยในยุค AI
ปัจจุบันประเทศไทยมีเพียง สิทธิบัตรการออกแบบ และ สิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ แต่ยังขาด สิทธิบัตรเชิงอัลกอริทึม ซึ่งมีความสำคัญในการปกป้องเทคโนโลยี AI เหมือนที่ประเทศชั้นนำทำอยู่ ดังนั้น นักพัฒนาควรสำรวจว่างานของตนเข้าข่ายสิทธิบัตรประเภทใด และหาวิธีคุ้มครองอัลกอริทึมร่วมกับฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ควรศึกษาแนวทางการจดสิทธิบัตรในระดับสากลเพื่อเพิ่มโอกาสแข่งขันในตลาดโลก การเข้าใจและใช้สิทธิบัตรอย่างถูกต้องจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนานวัตกรรม AI ได้อย่างยั่งยืนและมีศักยภาพมากขึ้น
Startup กับกลยุทธ์ Open & Close: ทางรอดในยุค AI
สำหรับ Startup ขนาดเล็ก การมีกลยุทธ์แบบ Open & Close เป็นสิ่งสำคัญ Open หมายถึงการเข้าร่วมคอมมูนิตี้ AI เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่าย ส่วน Close คือการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาผ่าน การจดสิทธิบัตร (Patent) เพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ ดังนั้น สตาร์ทอัพไทยควรเร่งจดสิทธิบัตรควบคู่ไปกับการสร้างคอมมูนิตี้ เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกและเติบโตได้อย่างยั่งยืน แนวทางนี้กำลังกลายเป็นมาตรฐานในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ต้องการทั้งการขยายเครือข่ายผู้พัฒนา และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อความได้เปรียบทางธุรกิจ
โอกาสของ AI ในประเทศไทย: ใช้จุดแข็งให้เป็นประโยชน์
ปัจจุบัน AI ขับเคลื่อนด้วย Data และสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมหลักของไทย เช่น ท่องเที่ยว เกษตร และโรงงาน โดยเฉพาะ การท่องเที่ยว ที่สามารถพัฒนา Cultural AI เพื่อใช้ประโยชน์จากเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ไม่มีในประเทศอื่น
AI ไทยยังมีโอกาสเติบโตใน Niche Market เช่น
– AI Food – พัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหารและโภชนาการ
– AI Textile – ใช้ AI ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น
แนวทางนี้จะช่วยให้ไทยสร้าง AI ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก ดังนั้นไทยต้องพัฒนา AI ให้ตอบโจทย์จุดแข็งของตนเอง เช่น การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเฉพาะทาง พร้อมทั้งเข้าใจสิทธิบัตรและแนวทางปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อแข่งขันในตลาดโลกต่อไป


สามารถรับชมสัมมนา Thailand Digital IP Forum 2025 ย้อนหลังได้ที่